10 นักเขียนเวิลด์คลาสแดนปลาดิบที่คอวรรณกรรมญี่ปุ่นต้องรู้จัก



           ถ้าพูดถึงนักเขียนชาวญี่ปุ่น ชื่อแรกที่นักอ่านรุ่นปัจจุบันยกขึ้นมาได้ในทันที บางทีคงจะเป็น “ฮารูกิ มูราคามิ”   แน่นอน เราไม่เถียงเรื่องความสามารถด้านการประพันธ์ของเขา ทว่าโลกแห่งวรรณกรรมญี่ปุ่นยังคงกว้างเกินกว่านั้น และเราก็หวังว่ารายนามนักเขียนที่กำลังจะยกมาให้ดูนี้ อาจเป็นประตูไปสู่นักเขียนที่คุณชื่นชอบคนใหม่ได้
          แต่ก่อนจะไปดูชื่อและผลงานของนักเขียนแต่ละคน สิ่งหนึ่งที่ผู้อ่านพึงทราบคือ โลกของวรรณกรรมญี่ปุ่นเปรียบเสมือนแอ่งน้ำขนาดใหญ่อันลึกล้ำ การดำดิ่งลงไปในภาษาและขนบธรรมเนียมแบบญี่ปุ่นบางครั้งก็ต้องใช้ความพยายามและอดทนอย่างมาก   ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่สลับซับซ้อน เต็มไปด้วยการเปรียบเปรยและการตีความระหว่างบรรทัด ดังนั้นต้นฉบับใดๆ ที่แปลมาจากภาษาอังกฤษ การแปลข้ามวัฒนธรรมระหว่างตะวันตก-ตะวันออก อาจทำให้ไม่สามารถเก็บอารมณ์ตามต้นฉบับได้ทั้งหมด สิ่งที่ตกหล่นไปจึงอาจมีบ้าง และถ้าแปลเป็นไทยอีกทอด สิ่งที่ตกหล่นก็จะมากขึ้นตามไปด้วย   
           คำแนะนำคือ หากเป็นไปได้ ลองเลือกอ่านเล่มที่แปลตรงจากภาษาญี่ปุ่นมาเป็นไทยโดยไม่ผ่านฉบับภาษาอังกฤษ หรือถ้าให้ดีกว่านั้น พึงรับอรรถรสด้วยฉบับภาษาญี่ปุ่น...ถ้าคุณสามารถอ่านได้!  

ภูมิหลังวรรณกรรมญี่ปุ่น  

            วรรณกรรมญี่ปุ่นหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (1945) มีหลายโฉมหน้า  หลังจากดินแดนอาทิตย์อุทัยถูกบดขยี้ความทะเยอทะยานที่จะเป็นมหาอำนาจในเอเชียบูรพา คนญี่ปุ่นก็ล้วนหมกมุ่นกับการแสวงหาบางสิ่งบางอย่าง ด้วยความหวังว่าอนาคตที่สดใสอาจมาถึง
          ด้วยความที่พ่ายแพ้สงคราม ตามมาด้วยการเผชิญภัยพิบัติอันน่าสะพรึงกลัวจากระเบิดปรมาณู สิ่งที่วรรณกรรมญี่ปุ่นมักเล่าจึงเป็นเรื่องความไม่พึงปรารถนา ความอาลัยต่อการสูญเสีย ความลุ่มหลงต่อด้านมืด [ของมนุษย์] แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือการหาอัตลักษณ์ของตัวเอง และการหันมาตระหนักถึงเรื่องสังคม เศรษฐกิจ การเมืองภายในประเทศ งานเขียนจึงวนเวียนอยู่กับเรื่องสงคราม ศาสนา คุณธรรมจริยธรรม และการดำดิ่งลงไปในห้วงลึกในจิตใจของมนุษย์ และเพราะเหตุนี้ งานเขียนหลายเรื่องของญี่ปุ่นจึงมีลักษณะที่ “บีบคั้นตัวละคร (ซึ่งมักเป็นผู้ดำเนินเรื่อง) จนกว่าจะถึงขีดจำกัด” รวมถึงมีลักษณะที่ [ตัวละคร] มักมีความขัดแย้งในจิตใจสูง
             เมื่อเข้าใจตรงกันแล้วก็ไปดูกันทีละคนเลยว่า 10 นักเขียนญี่ปุ่นที่คุณควรรู้จักชื่อนั้นมีใครบ้าง

1. เคนซาบุโร โอเอะ (Oe Kenzaburo - 大江 健三郎)


            เขาคือนักเขียนวรรณกรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่คนสำคัญที่เป็นเจ้าของรางวัลโนเบลปี 1994   โลกในจินตนาการของโอเอะมักวนเวียนอยู่กับโลกอันไม่พึงปรารถนาของด้านมืดมนุษย์ เขานำเสนอภาพอันเกิดจากปัญหานิวเคลียร์ จริยธรรมที่ผิดไปจากคนอื่นๆ ในสังคม และการดิ้นรนเพื่อมีชีวิตรอด  ตัวอย่างเรื่องที่น่าทึ่งของโอเอะเรื่องหนึ่งคือ “Lavish are the Dead” (ยังไม่มีแปลภาษาไทย) เกี่ยวกับนักศึกษาสองคนที่ทำงานพาร์ทไทม์ในห้องเก็บศพของโรงพยาบาลในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งตัวละครจะพูดคุยกับศพไปเรื่อยๆ เหมือนเป็นคนที่ยังมีชีวิต อีกทั้งบทบรรยายของโอเอะยังทำให้เราสัมผัสได้กระทั่งความเย็นยะเยียบในห้องเก็บศพ และกลิ่นฉุนของฟอร์มาลิน   
           ส่วนเรื่องอื่นๆ ของโอเอะที่แปลเป็นภาษาไทยแล้ว ได้แก่ "รอยชีวิต" (A Personal Matter) "ฆ่ามันซะ อย่าให้มันโต" (Nip the Buds, Shoot the Kids) และ "เสียงร่ำไห้ที่เงียบงัน" (The Silent City) โดยทั้งสามเล่มเป็นลิขสิทธิ์ของสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ ส่วน "เด็ก 200 ปี" (Nihyakunen no kodomo) ซึ่งเป็นวรรณกรรมเยาวชน (ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ผีเสื้อ) รวมถึง "เดียวดายในโลกเหว่ว้า" (The Sexual Man หรือ Seventeen & J) โดย เอิร์นเนส พับลิชชิ่ง

2. มิชิมะ ยูกิโอะ (Mishima Yukio -三島 由紀夫)


            ชายผู้เป็นตำนาน นักพูดปลุกระดมต่อหน้าคนนับร้อย และผู้พลีชีพเพื่ออุดมการณ์รักชาติแบบสุดโต่ง ด้วย “เซปปุกุ” (หรือ “ฮาราคีรี” พิธีกรรมคว้านท้องฆ่าตัวตาย)   
            บางคนกล่าวว่างานของเขา “อ่านยาก แต่มีเสน่ห์ในแบบของตัวเอง” ซึ่งมิชิมะมักวนเวียนอยู่กับเรื่องความรัก ความตาย และมีบทบรรยายที่มีสีสันฉูดฉาด   ผลงานของเขาที่แปลเป็นภาษาไทยแล้วคือ “กลางฤดูร้อน” (Death in Midsummer and Other Stories) รวมเรื่องสั้นอันทรงพลังที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขันแบบร้ายๆ และความสัมพันธ์อันไม่พึงปรารถนาที่นำไปสู่โศกนาฏกรรม  

3. ฮารูกิ มูราคามิ (Murakami Haruki - 村上春樹)


             สำหรับนักเขียนคนนี้คงไม่ต้องกล่าวอะไรมาก ผลงานของเขาเป็นที่รู้จักในระดับโลก และทุกวันนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นนักเขียนชาวญี่ปุ่นที่มีคนรู้จักมากที่สุด งานเขียนของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 40 ภาษา  โดยลักษณะเรื่องของมูราคามิจะมีความเหนือจริงที่สะท้อนความจริงลึกๆ ในสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าจะเรื่องความหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง ความรู้สึกไม่แน่นอนที่มีต่ออนาคต หรือความว้าเหว่ในโลกอันเร่งรีบ  การปรากฏตัวผลุบๆ โผล่ๆ ของตัวละครที่ไม่น่ามีอยู่จริง สามารถมองได้ทั้งเป็นสัญลักษณ์ของบางอย่าง และเป็นการสร้างภาพจำให้แก่เรื่องของเขา  และถ้าเป็นคนที่สนใจเพลงแจ๊ซ เพลงคลาสสิก รวมทั้งบรรยากาศแบบร่วมสมัยก็น่าจะเพลิดเพลินกับงานของมูราคามิได้ไม่ยาก 
           ผลงานของมูราคามิทยอยแปลเป็นภาษาไทยแทบทุกเรื่องแล้วโดยสำนักพิมพ์กำมะหยี่ เรื่องที่โด่งดังและเป็นที่กล่าวขวัญที่สุด บางทีคงไม่พ้น “ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย” (Norwegian Wood) บันทึกนกไขลาน (The Wind-Up Bird Chronicle) คาฟคาออนเดอะชอร์ (Kafka on the Shore) และ 1Q84

4. โยชิโมโตะ บานานะ (Yoshimoto Banana - 吉本 ばなな)


           ชื่อจริงของเธอคือ โยชิโมโตะ มาโฮะโกะ   งานของโยชิโมโตะไม่มีระเบิดนิวเคลียร์ เด็กถูกลักพาตัว หรือเรื่องดราม่าอื่นๆ แต่เธอสนใจปัญหาวัยรุ่น ชีวิตคนเมือง และการคาบเกี่ยวกันระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและโลกของจินตนาการ ซึ่งแสดงออกมาในรูปความกดทับซับซ้อนของตัวละครและบรรยากาศในเรื่อง คำที่เธอใช้เป็นคำง่ายๆ แต่มีประสิทธิภาพ
           งานของบานานะที่เป็นที่กล่าวขวัญมากที่สุดคือผลงานชิ้นแรกเรื่อง “คิทเช่น” (Kitchen) เรื่องนี้เคยมีฉบับแปลภาษาไทยกับสำนักพิมพ์อิมเมจ เช่นเดียวกับเรื่อง “หลับ” (Asleep)  เรื่องที่เคยพิมพ์กับ JBook มีสองเรื่องคือ “ลาก่อนท์ซึกุมิ” (Goodbye Tsugumi) และ “ปีกนางฟ้า” (Cloak of feathers) แต่เล่มเดียวที่น่าจะยังหาได้ในตลาดตอนนี้ น่าจะมีแค่ “ทะเลสาบ” (The Lake) โดยสำนักพิมพ์เอิร์นเนสต์

5. คาวาบาตะ ยาสึนาริ (Kawabata Yasunari -川端 康成)


            เขาเป็นนักเขียนชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1968   งานเขียนของเขาคือการบรรยายความสวยงาม ชีวิตและความตาย และความเงียบระหว่างบทสนทนา  เขาเริ่มต้นชีวิตการเขียนจากการส่งเรื่องสั้นไปลงนิตยสาร   หลังจากมีงานเขียนลงนิตยสารจำนวนหนึ่ง นวนิยาย “เมืองหิมะ” (Snow Country) ที่ตีพิมพ์ในปี 1934 ก็กลายเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงมากชิ้นหนึ่ง (เรื่องนี้เคยมีฉบับภาษาไทยตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์เบรนเน็ตเมื่อนานมาแล้ว) งานชิ้นนี้ทำให้คาวาบาตะเป็นที่จดจำในฐานะนักเขียนคลาสสิกขณะนั้น และนักวิจารณ์หลายคนต่างกล่าวว่า “บางทีนี่อาจจะเป็นงานที่ดีที่สุดของคาวาบาตะ”
             งานชิ้นที่สองที่บ่งบอกความเป็นยุคหลังสงครามของเขาคือเรื่อง “เสียงแห่งขุนเขา” (The Sound of the Mountain) ที่เล่าเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งในคามาคุระซึ่งตัวเอกเป็นชายวัยกลางคนที่ชืดชาต่อความสัมพันธ์กับภรรยาและหลงรักลูกสะใภ้ของตัวเอง (ทุกวันนี้เรื่องเสียงแห่งขุนเขายังคงหาซื้อได้ที่ “สำนักพิมพ์นาคร”)
             คาวาบาตะเป็นนักเขียนญี่ปุ่นคนหนึ่งที่บรรยายธรรมชาติทั้งในแง่ความงดงามของสิ่งรอบตัวและความเป็นมนุษย์ของตัวละครได้อย่างลึกซึ้งละเมียดละไม และนั่นก็เป็นผลมาจากความชอบในกลอนโบราณไฮกุของเขานั่นเอง

6. ริวโนะซุเกะ อะคุตะงาวะ (Akutagawa Ryunosuke - 芥川 龍之介)


           ผู้ได้รับสมญาว่า “บิดาแห่งเรื่องสั้นญี่ปุ่น” และรางวัลวรรณกรรมชั้นแนวหน้าอย่าง “รางวัลอะคุตะงาวะ” ก็ตั้งชื่อตามเขาผู้นี้   เขาตีพิมพ์ “ราโชมอน” (หรือระโชมง) เรื่องสั้นเรื่องแรกลงในนิตยสารตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนหนังสืออยู่ และได้รับคำชมกระทั่งจากนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ในยุคนั้นอย่างนัตซึเมะ โซเซกิ ซึ่งถือเป็นการการันตีความสามารถด้านการเขียนของเขาเลยก็ว่าได้
             ผลงานแทบทั้งหมดของเขามีเพียงเรื่องสั้น หรืออย่างมากคือเรื่องสั้นขนาดยาว (เช่น “ขัปปะ” มีฉบับภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม) โดยพูดถึงความสับสนอลหม่าน ความขัดแย้งในจิตใจที่ไม่สามารถหาทางออกได้ ซึ่งไม่ต่างอะไรเลยกับสภาพจิตใจของอะคุตะงาวะที่มองญี่ปุ่นช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ว่ากำลังเปลี่ยนไป และเขาก็ลงเอยด้วยการกินยานอนหลับเกินขนาดเพื่อฆ่าตัวตายเพราะเขาไม่แน่ใจในอนาคตที่กำลังจะมาถึง 
             ความอลหม่านสุดขั้วของอะคุตะงาวะและความคิดที่คลุมเครือสับสนของเขาสะท้อนอยู่ในงานเขียนทุกชิ้น โดยเล่มที่ได้รับการกล่าวขวัญมากที่สุดและต่างประเทศนิยมอ่านกัน ก็คือ “ราโชมอนและเรื่องสั้นอื่นๆ” (Rashomon and Seventeen Other Stories) เรื่องนี้มีฉบับแปลไทยโดยสำนักพิมพ์สมมติ (แต่ไม่ครบ 17 เรื่อง มีแค่ 5 เรื่องเอกเท่านั้น)

7. นัตซึเมะ โซเซกิ (Natsume Soseki -夏目 漱石)


           ชื่อของนัตซึเมะ โซเซกิคือชายผู้อยู่บนธนบัตร 1000 เยน และเป็นชื่อหนึ่งที่เด็กนักเรียนญี่ปุ่นจะได้รู้จักตั้งแต่ยังอยู่ชั้นประถม มีการนำงานของเขามาใช้ในแบบเรียนภาษาญี่ปุ่นอย่างกว้างขวาง 
            ผลงานที่เป็นที่รู้จักดี เช่น “โคะโคะโระ” (Kokoro) ซึ่งเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวเอกที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย กับ “เซนเซ” (หรืออาจารย์) ผู้แปลกแยกโดดเดี่ยวจากสังคมที่ผู้อ่านจะต้องค่อยๆ ทำความรู้จักตัวละคร และตีความคำพูดแต่ละคำของตัวละครไปทีละน้อย 
ด้วยความที่โซเซกิศึกษาทางด้านวรรณคดี งานของเขาจึงมีความทันสมัย มองไปไกลเกินกว่าสิ่งรอบๆ ตัว และมีความเป็นสากล  “ฮารูกิ มูราคามิ” กล่าวว่าโซเซกิคือนักเขียนคนโปรดของตน
            งานของโซเซกิที่มีการแปลเป็นภาษาไทยแล้วนอกจาก “โคะโคะโระ” (ลิขสิทธิ์เดิมเป็นของสำนักพิมพ์ดอกหญ้า แต่ปัจจุบันสำนักพิมพ์ยิปซีนำมาตีพิมพ์ใหม่) ยังมีเรื่องอื่นๆ อีก อาทิ “ฝันสิบราตรี” (Ten Nights of Dreams) โดยสำนักพิมพ์ JLIT และต้นส้ม น้ำตา พายุ (Botchan) โดยสำนักพิมพ์ฟรีฟอร์ม

8. ริว มูราคามิ (Murakami Ryu - 村上 龍)


           ชื่อของนักเขียนผู้นี้อาจไม่เป็นที่คุ้นหูของนักอ่านชาวไทยนัก แต่หากอยากลองสัมผัสกับความมืดมิดอย่างที่สุดของจิตใจมนุษย์ ผลงานของริว มูราคามิ คือสิ่งที่คุณควรลองไปเสาะแสวงหามาอ่านดู
           สไตล์เรื่องของริว มูราคามิจะเกี่ยวพันกับธรรมชาติความเป็นมนุษย์ โดยเล่าผ่านความสิ้นหวัง การฆาตกรรม สงคราม ยาเสพติด เซ็กซ์ เป็นเสมือนด้านมืดของญี่ปุ่นที่ไม่ค่อยมีนักเขียนคนใดพูดถึง   งานที่เป็นที่รู้จักดีของเขาคือ “Almost Transparent Blue” (ยังไม่มีฉบับแปลไทย) ซึ่งกล่าวถึงตัวเอกที่ติดหล่มอยู่ในวังวนยาเสพติด เซ็กซ์ และโลกของร็อคแอนด์โรลในทศวรรษ 70 
            นอกจากประเด็นด้านมืดในจิตใจแล้ว ริว มูราคามิยังเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการยึดครองฐานทัพญี่ปุ่นโดยสหรัฐอเมริกา ดังนั้นงานของเขาจึงมีอารมณ์เหยียดหยันต่อต้านคนหรือวัฒนธรรมอเมริกัน เห็นได้ชัดจากเรื่อง “มิโซะเลือด” (In the Miso Soup) ที่ตัวเอกทำงานเป็นไกด์ทัวร์โลกราตรีให้แก่ฝรั่งชาวอเมริกัน และเข้าไปพัวพันกับการฆาตกรรม 
           ฉบับแปลไทยของนักเขียนผู้นี้ขณะนี้มีเพียงสองเล่ม คือ “มิโซะเลือด” กับ “ปมซ่อนฆ่า” (Piercing) โดยสำนักพิมพ์เอิร์นเนสต์ (แต่ตอนนี้อาจจะหายากสักหน่อย)

9. ดะไซ โอซามุ (Dazai Osamu -太宰 治)


          ดะไซนับเป็นนักเขียนชั้นแนวหน้าที่คนชอบวรรณกรรมญี่ปุ่นต้องลองอ่านดูสักครั้ง งานของเขาก็เป็นเช่นเดียวกับนักเขียนในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 คือสนใจธรรมชาติของจิตใจมนุษย์ ความป่วยไข้ทางจิต ความสัมพันธ์ทางสังคม และภาพของญี่ปุ่นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
           เพราะเขามีชีวิตคาบเกี่ยวในช่วงสงคราม งานของเขาในยุคหลังๆ ก่อนที่จะเสียชีวิตจึงเต็มไปด้วยความขมขื่นหม่นหมอง หมดหวัง โดยเฉพาะในงานของดะไซที่แปลเป็นภาษาไทยแล้วอย่าง “สูญสิ้นความเป็นคน” (No Longer Human สำนักพิมพ์ JLIT) ซึ่งเป็นงานชิ้นสุดท้ายที่เสร็จสมบูรณ์  ส่วนงานอีกชิ้นที่โด่งดังไม่แพ้กันคือ “The Setting Sun” (หรือ Shayo ซึ่งเคยมีฉบับแปลไทยเมื่อนานมาแล้วในชื่อ "อาทิตย์ลับขอบฟ้า" โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า ร่วมกับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) ที่พูดถึงช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านหลังยุคสงครามในญี่ปุ่นที่ตัวเอกหญิงต้องดิ้นรนกับปัญหาของตัวเองและถูกกดทับโดยขนบธรรมเนียมทางสังคม
          และนอกจาก "สูญสิ้นความเป็นคน" แล้ว ผลงานของดะไซ โอซามุ ที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ JLIT ยังมีรวมเรื่องสั้นที่น่าสนใจอย่าง "เมียชายชั่ว" (Villon's Wife) ซึ่งทั้งสองเล่มแปลโดย พรพิรุณ กิจสมเจตน์

10. โยโกะ โอกาวะ (Ogawa Yoko - 小川 洋子)


           มีผู้กล่าวว่างานของโยโกะ โอกาวะ เสมือนการ “ค่อยๆ แทงมีดเข้าไปแล้วบิดทีละน้อย” คือเยือกเย็นแต่เด็ดขาด นิ่มนวลแต่น่าสยดสยอง   ฝีมือของเธอทำให้ผู้อ่านรู้สึกเหมือนถูกจับจ้องด้วยสายตาเยียบเย็น แล้วถูกลอบฆ่าโดยไม่ทันรู้ตัว
          เคนซาบุโร โอเอะ กล่าวว่า "งานของเธอคือการเล่นกับจิตวิทยาของมนุษย์อย่างอ่อนโยนทั้งที่กำลังทิ่มแทงผู้อ่านเข้าไป ทำให้ตัวละครส่วนใหญ่ปรากฏลักษณะที่ไม่รู้ว่าทำไมตัวเองถึงต้องทำสิ่งที่กำลังทำอยู่ ด้วยการให้รายละเอียดทีละเล็กทีละน้อย ดำเนินเรื่องอย่างช้าๆ และแวดล้อมผู้อ่านให้คล้อยตาม  บางครั้งเรื่องของเธอจึงมีสภาพแบบเหนือจริง บางครั้งก็คลุมเครือจนผู้อ่านรู้สึกอึดอัดตาม"
          สำหรับงานแปลของเธอคนนี้ในภาษาไทย ฉบับล่าสุดคือ “Revenge: Eleven Dark Tales” โดยสำนักพิมพ์ไจไจบุ๊คส์ และ (หากจะยังคงหาได้) ก็เคยมีเรื่อง “ดอกเตอร์กับรูทและสูตรรักของเขา” (The Housekeeper and the Professor) โดยสำนักพิมพ์บลิส แต่เรื่องอื่นๆ ที่โด่งดังและมีฉบับภาษาอังกฤษแล้ว ขอแนะนำ Hotel Iris, The Diving Pool และ Pregnancy Diary


หมายเหตุ : 
             
            1. ลำดับนักเขียนในที่นี้ไม่มีผลต่อความดัง และ/หรือความน่าสนใจ  
            2. นักเขียน 10 คนที่เลือกมามาจากหลายๆ บทความรวมกัน และรวบรวมมาไว้ ณ ที่นี้ โดยไม่มีบทความใดที่มีรายชื่อทั้ง 10 คนนี้ในหนึ่งเรื่อง   การเรียงชื่อของแต่ละคนในภาษาไทยเป็นไปตามความนิยมที่คนไทยคุ้นเคย แต่ลำดับภาษาอังกฤษยึดตามชื่อแบบญี่ปุ่น คือนามสกุลขึ้นก่อนและตามด้วยชื่อ   
           ในส่วนบทนำเรียบเรียงมาจากบล็อก FluentU ในชื่อ “Urban History: 10 Famous Japanese Authors Missing from Your Reading List” แน่นอนว่ารายชื่อนักเขียนส่วนหนึ่ง (คือโอเอะ บานานะ มูราคามิ และริว มูราคามิ) มาจากบทความนี้ แต่รายละเอียดเพิ่มเติมของผลงานเด่นๆ มาจากหลายแหล่ง อาทิ “20 Essential Works of Japanese Literature” โดยเว็บไซต์ BachelorsDegreeOnline และ “10 Japanese Books You Need to Read” โดย The Culture Trip (เช่นเดียวกัน คือมีแค่บางเรื่องอย่างของมิชิมะ  ริว มูราคามิ  โยโกะ โอกาวะ และโซเซกิ) 
            รายละเอียดหนังสือแต่ละเล่มมาจาก goodreads หรือ Wikipedia และบทวิจารณ์คร่าวๆ ของหนังสือแต่ละเล่ม   ส่วนรายชื่อหนังสือที่เคยพิมพ์เป็นภาษาไทย ฐานข้อมูลซีเอ็ดบุ๊คส์เซ็นเตอร์ช่วยเราได้มาก และต้องขอบคุณนักอ่านคอญี่ปุ่นตัวยงหลายคนที่เคยพูดถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งลงบล็อกส่วนตัวหรือพันทิป เราจะไม่รู้เลยว่าเคยมีฉบับแปลเล่มนี้อยู่และใช้ชื่อในภาษาไทยว่าอะไร ถ้าไม่เห็นข้อความของคุณ 
             3. สุดท้ายที่ต้องขอบคุณคือนักอ่านชาวไทยที่สนใจหนังสือสัญชาติญี่ปุ่น เมื่อดูรายชื่ออย่างจริงจังแล้วจะพบว่าหนังสือที่แปลเป็นภาษาไทยแล้วมีน้อยมาก และเล่มที่แปลมาจากภาษาญี่ปุ่นโดยตรงยิ่งน้อยกว่านั้น ซึ่งสำนักพิมพ์ใดๆ จะไม่สามารถขับเคลื่อนการซื้อลิขสิทธิ์และผลิตได้เลย ตราบใดที่ผู้อ่านไม่แสดงความสนใจว่าอยากสนับสนุน   ปรากฏการณ์ที่คนให้ความสนใจหนังสือของดะไซ โอซามุ และนัตซึเมะ โซเซกิที่ตีพิมพ์กับ JLIT นับเป็นความหวังหนึ่งว่าเราจะได้เห็นหนังสือวรรณกรรมแปลญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นในอนาคต  


แหล่งข้อมูลจาก THE PAPERLESS

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น